01 สิงหาคม 2553

การดูแลผู้ป่วยที่คาสายสวนปัสสาวะ

ดูแลผู้ป่วยที่คาสายสวนปัสสาวะอย่างไร ? ให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ

การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยๆ ในผู้ป่วยที่คาสายปัสสาวะเป็นระยะเวลานาน ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการรักษา และเป็นสาเหตุการตายได้

สาเหตุหลักๆที่ทำให้มีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ

1. คาสายสวนปัสสาวะเป็นระยะเวลานาน
2. เทคนิคในการใส่สายสวนปัสสาวะไม่ถูกวิธี
3. ถุงเก็บปัสสาวะมีรอยรั่วหรือฉีกขาด
4. จำนวนน้ำต่อวันที่ได้รับน้อยเกินไป
5. ยึดตรึงสายผิดวิธีทำให้การระบายออกของปัสสาวะไม่ดี
6. มีการไหลย้อนของปัสสาวะ

การดูแลผู้ป่วยที่คาสายสวนปัสสาวะอย่างถูกวิธี

1. ดื่มน้ำประมาณวันละ 3,000 ซีซี ถ้าไม่มีข้อจำกัด เรื่องการควบคุมน้ำดื่ม
2. เครื่องดื่มที่ไม่ควรดื่ม ได้แก่ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ เนื่องจากมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ เช่น ชา กาแฟ เหล้า เบียร์ เป็นต้น
3. แขวนถุงเก็บปัสสาวะให้ต่ำกว่ากระเพาะปัสสาวะประมาณ 30.ซ.ม.(หรือ 1ไม้บรรทัด) แต่ไม่เกิน 40 ซ.ม. ระวังการดึงรั้งของสายสวนปัสสาวะ
4. ทำความสะอาดอวัยวะสืบพันธุ์ทุกวัน อย่างน้อยวันละ 2 ครั้งโดยใช้สบู่กับน้ำสะอาด ห้ามใช้น้ำยาที่มีส่วนผสมของน้ำยาฆ่าเชื้อโรค อาจทำให้เกืดการระคายเคืองของผิวหนัง
5. การทำความสะอาดอวัยวะสืบพันธุ์ขณะที่คาสายสวนปัสสาวะโดยการล้างอวัยวะเพศและบริเวณขาหนีบ รวมทั้งบริเวณสายสวนปัสสาวะที่ต่อออกมาจากรูเปิดของท่อปัสสาวะให้สะอาด และล้างสายสวนปัสสาวะออกมาทางด้านนอกตัวผู้ป่วยอย่างนุ่มนวล
6. การยึดตรึงสายสวนปัสสาวะสำหรับผู้หญิง ให้ยึดตรึงสายไว้บริเวณหน้าขาข้างใดข้างหนึ่ง ทั้งในท่านอนท่านั่ง
7. การยึดตรึงสายสวนปัสสาวะสำหรับผู้ชาย ขณะนอนบนเตียง ให้ยึดตรึงสายบริเวณหน้าท้อง เพื่อให้มีการระบายปัสสาวะที่ดีและยึดตรึงสายบริเวณหน้าขาขณะนั่ง
8. เปลี่ยนถุงปัสสาวะทุกสัปดาห์ หรือเมื่อสกปรกมาก หรือรั้วซึมด้วยวิธีปราศจากเชื้อ
9. เปลี่ยนสายสวนปัสสาวะทุกๆ 2 สัปดาห์(ทำจาก latex)
10. ขนาดของสายสวนปัสสาวะที่เหมาะสมกับเพศ ในผู้ชายใช้สายสวนปัสสาวะขนาด 12 ถึง 14 Fr และในผู้หญิง ใช้ขนาด 14 ถึง 16 Fr
11. ดูแลสายสวนปัสสาวะไม่ให้มีการหักพับงอ
12. ควรเทปัสสาวะในถุงเก็บปัสสาวะอย่างน้อยทุก 3 ช.ม.หรือเมื่อมีปัสสาววะประมาณ 2 ใน 3 ของถุงเก็บปัสสาวะ
13. ล้างมือก่อนและหลังจากเทปัสสาวะทุกครั้ง

ข้อควรระวัง !!!

1. หลีกเลี่ยงการปลดข้อต่อระหว่างสายสวนปัสสาวะและดูแลไม่ให้มีการหลวมหรือหลุด
2. ให้พับสายใกล้ถุงเก็บปัสสาวะทุกครั้ง เมื่อมีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหรือถุงเก็บปัสสาวะ
3. ไม่ปล่อยถุงเก็บปัสสาวะลากกับพื้นทำให้ปนเปื้อนเชื้อโรค
4. ในผู้ป่วยที่เริ่มใส่สายสวนปัสสาวะควรใส่สายที่มีขนาดเล็ก เพื่อป้องกันการบาดเจ็บของท่อปัสสาวะ
5. กรณืที่ผู้ป่วยฝึกยืนหรือฝึกเดิน ต้องดูแลให้ถุงเก็บปัสสาวะอยู่ในระดับต่ำกว่ากระเพาะปัสสาวะ 30ซ.ม.
6. ในรายที่มีอาการบาดเจ็บไขสันหลังตั้งแต่กระดูกหน้าอกส่วนบนขึ้นไป ถ้ามีการติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ อาจมีอาการ Autonomic Dysreflexia ได้

สังเกตอย่างไร ?

ว่ามีการติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ

อาการแสดง

1, สีของน้ำปัสสาวะเข้มขึ้น หรือคล้ายน้ำล้างเนื้อ

2. มีกลิ่นฉุน

3. มีตะกอนมาก ลักษณะคล้ายหนอง

4. รู้สึกแสบขัด ไม่สุขสบายบริเวณหัวเหน่า

5. มีไข้สูง

6. อาจจะมีปัสสาวะรั่วซึมรอบๆ รูเปิดของท่อปัสสาวะ

ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น