03 มีนาคม 2552

วิธีศึกษาพระคัมภีร์ By : โอ๋

แม้ว่าพระเจ้าจะทรงมีแผนการให้ประชากรของพระองค์มีศิษยาภิบาลและผู้เลี้ยง แต่ไม่มีสิ่งใดแทนที่การศึกษาพระวจนะส่วนตัวได้ มีผู้คนมากมายเมื่อได้ศึกษาพระคัมภีร์ส่วนตัวเป็นประจำอย่างเป็นระบบแล้วกลับพบว่า พวกเขาได้รับหลายสิ่งหลายอย่างจากผู้เลี้ยงที่สอนตนมากกว่าเสียอีก

มีวิธีศึกษาพระคัมภีร์ส่วนตัววิธีหนึ่งที่เรียกว่า การศึกษาแบบอุปนัย วิธีการนี้ท้าทายให่ผู้ศึกษาสังเกตและวิเคราะห์องค์ประกอบต่างๆของเนื้อความและความหมายของถ้อยคำก่อน แล้วจะได้บทสรุป เมื่ออธิษฐานทูลขอสติปัญญาจากพระเจ้าผู้ดลใจให้เขียนพระพจนะแล้ว ผู้ศึกษาพระคัมภีร์แบบอุปนัยก็จะสำรวจพระธรรมตอนนั้นๆ โดยใช้ดินสอขีดเขียนสิ่งที่ได้จากการสังเกตสิ่งที่ดีกว่าทองคำ (สุภาษิต 3:13-18)วิธีการที่ผู้ศึกษาพระคัมภีร์แบบอุปนัยทำตามลำดับ ได้แก่ (1) สังเกต (2 ) ตีความ และ (3) นำไปใช้

ขั้นที่ 1 สังเกต
พระธรรมตอนนั้นบอกว่าอย่างไร? จุดประสงค์แรกของขั้นตอนนี้ ก็เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบริบทให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ผู้ศึกษาพระคัมภีร์จะสนใจใคร่รู้ และไม่ทิ้งข้อมูลไปโดยเปล่าประโยชน์ ทั้งยังจะตั้งคำถามให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้เช่น ใคร? อะไร? ที่ไหน? เมื่อไร? อย่างไร? เพราะเหตุใด? คำใดที่บ่งบอกถึงความหมายที่เป็นไปได้? มีตัวชี้ใดที่สมเหตุผลที่ปรากฎอยู่ เช่น ดังนั้น แล้ว และ เช่นเดียวกัน แต่แม้ว่า หรือ กระนั้น ประเด็นหลักของตอนนี้คืออะไร? มีคำใดที่ได้รับการกล่าวซ้ำย้ำถึงแนวคิดหลัก? ผู้เขียนใช้องค์ประกอบ ข้อโต้แย้ง หรือตัวอย่างใดในการสนับสนุนแนวคิดหลัก? ในขั้นตอนนี้ อาจมีการเขียนโครงร่างของบทพระธรรม หรือรูปประโยคขึ้นมา เพื่อไห้เห็นว่าผู้เขียนเชื่อมโยงประโยคต่างๆเข้าด้วยกันอย่างไร จุดประสงค์ของขั้นตอนนี้คือการสำรวจบริบท

ขั้นที่ 2 ตีความ
ข้อความมีความหมายว่าอย่างไร? เมื่อผู้ศึกษาได้สำรวจอย่างถี่ถ้วนแล้ว ก็ตั้งคำถามต่อว่าอะไร แล้วที่ผู้เขียนกล่าวเช่นนี้มีความหมายว่าอย่างไรเมื่อเชื่อมโยงคำต่างๆที่อยู่ก่อนหน้าและตามมา? ไม่ใช่ว่าถ้อยคำเหล่านี้มีความหมายว่าอย่างไรต่อฉัน? แต่ ถ้อยคำเหล่านี้มีความหมายว่าอย่างไร ในช่วงที่ผู้เขียนพระธรรมตอนนั้นพรั่งพรูออกมา? ความตั้งใจของเขาคืออะไร? วิธีเดียวที่จะค้นพบความหมายที่แท้จริงได้ ก็คือการสังเกตุบริบทในขั้นตอนสังเกตนี้ จะต้องบันทึกรูปแบบของคำ คำจำกัดความและความหมายที่น่าจะเป็น และเมื่อตีความตามบริบทก็จะเข้าใจความหมายของผู้เขียนใช้ได้ดีที่สุด เมื่อถึงตรงนี้ พระวจนะก็จะมีชีวิตขึ้นมา พร้อมกับลมหายใจและการเคลื่อนไหวตามจิตใจและความมุ่งหมายของผู้เขียน

ขั้นที่ 3 นำไปใช้
พระธรรมตอนนี้มีความหมายอย่างไรต่อชีวิตของฉัน? หลังจากที่ได้ศึกษาความหมายตามบริบทของเวลาและสถานที่ในพระคัมภีร์แล้ว ผู้ศึกษาถามต่อว่า “สิ่งนี้มีความหมายอะไรต่อฉัน?” โดยจะต้องแยกแยะข้อเท็จจริงทางวัฒนธรรมออกจากหลักการที่ใช้ได้ตลอดกาล และมุ่งความสนใจไปที่แนวคิดหลัก ประเด็นหลักที่เกี่ยวกับจิตใจคืออะไร? สิ่งนี้กล่าวถึงความสัมพันธ์ของฉันกับพระเจ้าว่าอย่างไร? เมื่อเราตอบคำถามเหล่านี้แล้ว พระคัมภีร์ก็จะเริ่มมีความหมายเฉพาะเจาะจงต่อเรา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น